ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟิก
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟิก
คอมพิวเตอร์กราฟิก คือ การใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพและจัดการเกี่ยวกับรูปภาพ เพื่อใช้สื่อความหมายของข้อมูลต่าง ๆ ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น การใช้กราฟนำเสนอข้อมูลยอดขายสินค้าในแต่ละปี การใช้ภาพกราฟิกประกอบการโฆษณาสินค้าต่าง ๆ เป็นต้น ภาพกราฟิกแบบ 2 มิติ มี 2 แบบ คือแบบ Raster และแบบ Vector ซึ่งหลักการทำงานจะมีความแตกต่างกัน โดยกราฟิกแบบ Raster จะเกิดภาพจากจุดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ หลาย ๆ จุด มารวมกัน ส่วนแบบ Vector เกิดจากการอ้างอิงความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ หรือการคำนวณ ซึ่งภาพกราฟิกแต่ละนามสกุลจะมีแฟ้มรูปภาพและลักษณะที่แตกต่างกัน
บทนำ
ปัจจุบันภาพกราฟิกมีบทบาทกับงานด้านต่าง ๆ เป็นอย่างมาก เช่น งานนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของ เส้นกราฟ กราฟแท่ง แผนภูมิ การใช้ภาพกราฟิกประกอบการโฆษณาสินค้าต่าง ๆ การสร้างเว็บเพจ การสร้างสื่อการสอน (CAI) การสร้างการ์ตูน การสร้างโลโก และงานออกแบบต่าง ๆ เป็นต้น โดยภาพกราฟิกจะทำให้งานมีความสวยงามและน่าสนใจยิ่งขึ้น
ความหมายของกราฟิก
กราฟิก (Graphic) มักเขียนผิดเป็น กราฟิกส์ กราฟฟิกส์ กราฟฟิก คำว่า “กราฟิก” มาจากภาษากรีก ซึ่งหมายถึง การวาดเขียน (Graphikos) และการเขียน (Graphein) ต่อมามีผู้ให้ความหมายของคำว่า “กราฟิก” ไว้หลายประการซึ่งสรุปได้ดังนี้
กราฟิก หมายถึง ศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งใช้สื่อความหมายด้วยเส้น สัญลักษณ์ รูปวาด ภาพถ่าย กราฟ แผนภูมิ การ์ตูน ฯลฯ เพื่อให้สามารถสื่อความหมายข้อมูลได้ถูกต้องตรงตามที่ผู้สื่อสารต้องการ
ความหมายของคอมพิวเตอร์กราฟิก
คอมพิวเตอร์กราฟิก หมายถึง การสร้าง การตกแต่งแก้ไข หรือการจัดการเกี่ยวกับรูปภาพ โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการจัดการ ยกตัวอย่างเช่น การทำ Image Retouching ภาพคนแก่ให้มีวัยที่เด็กขึ้น การสร้างภาพตามจินตนาการและการใช้ภาพกราฟิกในการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้สามารถสื่อความหมายได้ตรงตามที่ผู้สื่อสารต้องการและน่าสนใจยิ่งขึ้นด้วยกราฟ แผนภูมิ แผนภาพ เป็นต้น
ภาพกราฟิก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภาพกราฟิกแบบ 2 มิติ แบบ 3 มิติ และแบบ 4 มิติ
ภาพกราฟิกแบบ 2 มิติ เป็นภาพที่พบเห็นโดยทั่วไป เช่น ภาพถ่าย รูปวาด ภาพลายเส้น สัญลักษณ์ กราฟ รวมถึงการ์ตูนต่าง ๆ ในโทรทัศน์ ยกตัวอย่างเช่น การ์ตูนเรื่องพิภพยมราช ชินจัง และโดเรมอน เป็นต้น ซึ่งการ์ตูนจะเป็นภาพกราฟิกเคลื่อนไหว (Animation) โดยจะมีกระบวนการสร้างที่ซับซ้อนกว่าภาพวาดปกติ
ภาพกราฟิกแบบ 3 มิติ เป็นภาพกราฟิกที่ใช้โปรแกรมสร้างภาพ 3 มิติโดยเฉพาะ เช่น โปรแกรม 3 Ds max โปรแกรม Maya เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้ภาพมีสีและแสงเงาเหมือนจริง เหมาะกับงานด้านสถาปัตย์และการออกแบบต่าง ๆ รวมถึงการสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนหรือโฆษณาสินค้าต่าง ๆ เช่น การ์ตูน เรื่อง Nemo The Bug และปังปอนด์แอนิเมชัน เป็นต้น
หลักการทำงานและการแสดงผลของภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก
ภาพที่เกิดบนจอคอมพิวเตอร์ เกิดจากการทำงานของโหมดสี RGB ซึ่งประกอบด้วยสีแดง (Red) สีเขียว (Green) และสีน้ำเงิน (Blue) โดยใช้หลักการยิงประจุไฟฟ้าให้เกิดการเปล่งแสงของสีทั้ง 3 สีมาผสมกันทำให้เกิดเป็นจุดสีสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า พิกเซล (Pixel) ซึ่งมาจากคำว่า Picture กับ Element โดยพิกเซลจะมีหลากหลายสี เมื่อนำมาวางต่อกันจะเกิดเป็นรูปภาพ ซึ่งภาพที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์มี 2 ประเภท คือ แบบ Raster และแบบ Vector
หลักการของกราฟิกแบบ Raster
หลักการของภาพกราฟิกแบบ Raster หรือแบบ Bitmap เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการเรียงตัวกันของจุดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ หลากหลายสี ซึ่งเรียกจุดสีเหลี่ยมเล็ก ๆ นี้ว่าพิกเซล (Pixel) ในการสร้างภาพกราฟิกแบบ Raster จะต้องกำหนดจำนวนของพิกเซลให้กับภาพที่ต้องการสร้าง ถ้ากำหนดจำนวนพิกเซลน้อย เมื่อขยายภาพให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้แฟ้มภาพมีขนาดใหญ่ ดังนั้นการกำหนดพิกเซลจึงควรกำหนดให้เหมาะกับงานที่สร้างคือ ถ้าต้องการใช้งานทั่ว ๆ ไปจะกำหนดจำนวนพิกเซลประมาณ 100-150 ppi (Pixel/inch) “จำนวนพิกเซลต่อ 1 ตารางนิ้ว” ถ้าเป็นงานที่ต้องการความละเอียดน้อยและแฟ้มภาพมีขนาดเล็ก เช่น ภาพสำหรับใช้กับเว็บไซต์จะกำหนดจำนวนพิกเซลประมาณ 72 ppi และถ้าเป็นแบบงานพิมพ์ เช่น นิตยสาร โปสเตอร์ขนาดใหญ่ จะกำหนดจำนวนพิกเซลประมาณ 300-350 เป็นต้น ข้อดีของภาพกราฟิกแบบ Raster คือ สามารถแก้ไขปรับแต่งสี ตกแต่งภาพได้ง่ายและสวยงาม ซึ่งโปรแกรมที่นิยมใช้สร้างภาพกราฟิกแบบ Raster คือ Adobe Photoshop , Adobe Photoshop CS, Paint เป็นต้น
หลักการของกราฟิกแบบ Vector
หลักการของกราฟิกแบบ Vector เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการอ้างอิงความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ หรือการคำนวณ ซึ่งภาพจะมีความเป็นอิสระต่อกัน โดยแยกชิ้นส่วนของภาพทั้งหมดออกเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง รูปทรง เมื่อมีการขยายภาพความละเอียดของภาพไม่ลดลง แฟ้มมีขนาดเล็กกว่าแบบ Raster ภาพกราฟิกแบบ Vector นิยมใช้เพื่องานสถาปัยต์ตกแต่งภายในและการออกแบบต่าง ๆ เช่น การออกแบบอาคาร การออกแบบรถยนต์ การสร้างโลโก การสร้างการ์ตูน เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมที่นิยมใช้สร้างภาพแบบ Vector คือ โปรแกรม Illustrator, Core Draw, Auto CAD, 3Ds max เป็นต้น แต่อุปกรณ์ที่ใช้แสดงผลภาพ เช่น จอคอมพิวเตอร์จะเป็นการแสดงผลภาพเป็นแบบ Raster
ความแตกต่างของกราฟิกแบบ 2 มิติ
ภาพกราฟิก 2 มิติแบบ Raster และ แบบ Vector มีความแตกต่างกันดังนี้
ภาพกราฟิกแบบ Raster | ภาพกราฟิกแบบ Vector |
1. ภาพกราฟิกเกิดจากจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆ หลากหลายสี (Pixels) มาเรียงต่อกันจนกลายเป็นรูปภาพ | 1. ภาพเกิดจากการอ้างอิงความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์หรือการคำนวณ โดยองค์ประกอบของภาพมีอิสระต่อกัน |
2. การขยายภาพกราฟิกให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำให้ความละเอียดของภาพเล็กลง ทำให้มองเห็นภาพเป็นจุดสี่เหลี่ยมเล็ก | 2. การขยายภาพกราฟิกให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ภาพยังคงความละเอียดคมชัดเหมือนเดิม |
3. การตกแต่งและแก้ไขภาพ สามารถทำได้ง่ายและสวยงาม เช่น การ Retouching ภาพคนแก่ให้หนุ่มขึ้น การปรับสีผิวกายให้ขาวเนียนขึ้น เป็นต้น | 3. เหมาะกับงานออกแบบต่าง ๆ เช่น งานสถาปัตย์ ออกแบบโลโก เป็นต้น |
4. การประมวลผลภาพสามารถทำได้รวดเร็ว | 4. การประมวลผลภาพจะใช้เวลานาน เนื่องจากใช้คำสั่งในการทำงานมาก |
หลักการสร้างภาพ
ขั้นตอนการสร้างภาพ
ก่อนอื่นเราต้องทำการวางแนวทางของชิ้นงานก่อนว่าจะนำเสนอเรื่องอะไร ใช้สี ภาพ และข้อความ ที่ทำให้ทราบถึงแนวทางการสร้างชิ้นงานกันต่อ ซึ่งอาจจะไม่ตายตัวเสมอไปแต่ก็พอเป็นแนวทางสรุปโดยรวมของขั้นตอนได้ดังนี้
1. การกำหนดพื้นหลังของภาพ เป็นการกำหนดภาพ หรือสีพื้นหลัง โดยภาพหรือสีพื้นหลังที่ใช้นั้นควรมีโทนสีให้อารมณ์และสื่อความหมายได้ถูกต้องตามจุดประสงค์ของชิ้นงาน
2. การเลือกพื้นที่ภาพที่ใช้งาน เป็นการตัด หรือคัดลอกบางส่วนของภาพต่างๆ ที่เราจะนำมาใช้ในชิ้นงานของเรา
3. การจัดวางภาพให้เหมาะสม การนำภาพส่วนประกอบมารวมกันเป็นชิ้นงาน อาจมีบางภาพที่มีขนาดและมุมการจัดวางไม่ลงตัว เราก็สามารถขยาย หมุน และบิดภาพให้เข้ากัน
หลักการออกแบบภาพ
การออกแบบ (Design). ความพึงพอใจนั้นมองหลัก ๆ มีอยู่ทั้งหมด 3 ประเด็นสำคัญ คือ
. 1. ความสวยงาม (Aesthetic) เป็นความพึงพอใจแรกที่คนเราสัมผัสได้ก่อน มนุษย์เราแต่ละคนต่างมีการรับรู้เรื่องความสวยงามและความพึงพอใจในเรื่องของความงามได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความพึ่งพอใจแต่ละบุคคล.
2. มีประโยชน์ใช้สอยที่ดี (Function) การมีประโยชน์ใช้สอยที่ดีนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากในงานออกแบบทุกประเภท
. 3. มีแนวความคิดในการออกแบบที่ดี (Concept) แนวความคิดในการออกแบบที่ดีนั้นคือ หนทางความคิดที่ทำให้งานออกแบบที่ได้ ตอบสนองต่อความรู้สึกพอใจ ชื่นชม
ความรู้เกี่ยวกับสี
โดยทั่วไปแล้วสีต่าง ๆ ในธรรมชาติและสีที่ถูกสร้างขึ้น จะมีรูปแบบการมองเห็นสีที่แตกต่างกัน ซึ่งรูปแบบการ มองเห็นสีเรียกว่า “โมเดล (Model)” ดังนั้น จึงทำให้มีโมเดลหลายแบบดังที่เราจะได้ศึกษาต่อไปนี้
- โมเดล HSB ตามหลักการมองเห็นสีของสายตามนุษย์.
- โมเดล RGB ตามหลักการแสดงสีของเครื่องคอมพิวเตอร์.
- โมเดล CMYK ตามหลักการแสดงสีของเครื่องพิมพ์.
- โมเดล Lab ตามมาตรฐานของ CIE
โมเดล HSB ตามหลักการมองเห็นสีของสายตามนุษย์
เป็นลักษณะพื้นฐานการมองเห็นสีด้วยสายตาของมนุษย์ โมเดล HSB จะประกอบด้วยลักษณะของสี 3 ลักษณะ
1.Hue เป็นสีของวัตถุที่สะท้อนเข้ามายังตาของเราทำให้เราสามารถมองเห็นเป็นวัตถุสีได้ซึ่งแต่ละสีจะแตกต่างกันตามความ
ยาวของคลื่นแสงที่มากระทบวัตถุและสะท้อนกลับมาที่ตาของเรา Hue ถูกวัดโดยตำแหน่งการแสดงสีบน Standard Color Wheel
ซึ่งถูกแทนด้วยองศา คือ 0 ถึง 360 องศา แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว มักเรียกการแสดงสีนั้นๆ เป็นชื่อของสีเลย เช่น สีแดง สีม่วง สีเหลือง
2. Saturation คือสัดส่วนของสีเทาที่มีอยู่ในสีนั้น โดยวัดค่าสีเทาในสีหลักเป็นเปอร์เซ็นต์ดังนี้คือ จาก 0% (สีเทาผสมอยู่มาก) จนถึง 100% (สีเทาไม่มีเลย หรือเรียกว่า “Full Saturation” คือสีมีความอิ่มตัวเต็มที่) โดยค่า Saturation นี้จะบ่งบอกถึงความเข้มข้นและความจางของสี ถ้าถูกวัดโดยตำแหน่งบน Standard Color Wheel ค่า Saturationจะเพิ่มขึ้นจากจุดกึ่งกลางจนถึงเส้นขอบโดยค่าที่เส้นขอบจะมีสีที่ชัดเจน และอิ่มตัวที่สุด
3.Brightness เป็นเรื่องราวของความสว่างและความมืดของสี ซึ่งถูกกำหนดค่าเป็นเปอร์เซ็นต์จาก0 % (สีดำ) ถึง 100%
(สีขาว) ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์มากจะทำให้สีนั้นสว่างมากขึ้น
H+S แทนค่าสีทั้งหมดที่เกิดจาก Hue +Saturation และ B แทนค่าความสว่างตั้งแต่ 0% ถึง 100%
โมเดล RGB ตามหลักการแสดงสีของเครื่องคอมพิวเตอร์
โมเดล RGB เกิดจากการรวมกันของสเปกตรัมของแสงสีแดง (Red) , เขียว (green) , และน้ำเงิน (Blue) ในสัดส่วน
ความเข้มข้นที่แตกต่างกัน โดยจุดที่แสงทั้งสามสีรวมกันจะเป็นสีขาว นิยมเรียกการผสมสีแบบนี้ว่า “Additive Color”แสงสี RGB
มักจะถูกใช้สำหรับการส่องแสงทั้งบนจอภาพทีวีและจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งสร้างจากสารที่ทำให้เกิดแสงสีแดงสีเขียว และสีน้ำเงิน
ทำให้สีดูสว่างกว่าความเป็นจริง
โมเดล CMYK ตามหลักการแสดงสีของเครื่องพิมพ์
โมเดล CMYK มีแหล่งกำเนิดสีอยู่ที่การซึมซับ (Absorb) ของหมึกพิมพ์บนกระดาษ โดยมีสีพื้นฐานคือ สีฟ้า (Cyan)
สีบานเย็น (Magenta) และสีเหลือง (Yellow) โดยเรียกการผสมสีทั้ง 3 สีข้างต้นว่า “Subtractive color” แต่สี CMYก็ไม่สามารถ
ผสมรวมกันให้ได้สีบางสี เช่น สีน้ำตาล จึงต้องมีการเพิ่มสีดำ (Black) ลงไปฉะนั้นเมื่อรวมกันทั้ง 4 สี คือ CMYK สีที่ได้จากการพิมพ์ จึงจะครอบคลุมทุกสี
โมเดล Lab ตามมาตรฐานของ CIE
โมเดล Lab เป็นค่าสีที่กำหนดขึ้นโดย CIE (commission Internationale d ́ Eclairage)ให้เป็นมาตรฐานกลางของ การวัดสีทุกรูปแบบครอบคลุมทุกสีใน RGB และ CMYK และใช้ได้กับสีที่เกิดจากอุปกรณ์ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่องสแกนและอื่น ๆ ส่วนประกอบของโหมดสีนี้ได้แก่
L หมายถึง ค่าความสว่าง (Luminance)
a หมายถึง ส่วนประกอบที่แสดงการไล่สีจากสีเขียวไปยังสีแดง
b หมายถึง ส่วนประกอบที่แสดงการไล่สีจากสีน้ำเงินถึงสีเหลือง
โมเดลการมองเห็นสีในโปรแกรม Photoshop
จากการมองเห็นสีดดยทั่วไปมาสู่หลักการมองเห็นสีใน Photoshop ที่เราเรียกว่า “ โหมด(MOde)”ซึ่งโหมดของสีใน Photoshop จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 โหมดที่อ้างอิงตามโดมเดล
กลุ่มที่ 2 โหมดที่ถูกกำหนดขึ้นมาพิเศษหรือที่เรียกว่า “ โหมด Specialozed ”
กลุ่มที่ 3 โหมดสีผสมที่เรียกว่า “โหมด Blending”
ประเภทของไฟล์ภาพกราฟิก
การสร้างภาพกราฟิกหรือการตกแต่งภาพกราฟิกประเภทของไฟล์ภาพกราฟิกเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มี ความสำคัญ เพราะความละเอียดของไฟล์ภาพจะส่งผลกับขนาดของภาพ เช่น ภาพที่นำมาใช้งาน บนเว็บเพจควรจะต้องมีขนาดเล็ก เพื่อนำไปเรียกใช้งานบนเว็บเพจได้อย่างรวดเร็ว ประเภทของไฟล์ภาพกราฟิกที่นิยมใช้โดยทั่วไป ได้แก
่
1. JPEG หรือ JPG (Join Photographic Export Group)
เป็นรูปแบบไฟล์ที่เก็บภาพแบบราสเตอร์ที่ไม่ต้องการคุณภาพสูงมากนัก เช่น ภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล ภาพถ่ายจาโทรศัพท์มือถือและภาพกราฟิกสำหรับแสดงบนอินเทอร์เน็ต สามารถแสดงสีได้ถึง 16.7 ล้านสี เป็นไฟล์ภาพชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม เพราะไฟล์มีขนาดเล็กสามารถบีบอัดข้อมูลได้หลายระดับ
จุดเด่น
1. สนับสนุนสีได้ถึง 24 bit
2. แสดงสีได้ถึง 16.7 ล้านสี
3. สามารถกำหนดค่าการบีบอัดไฟล์ได้ตามที่ต้องการ
4. มีระบบแสดงผลแบบหยาบและค่อย ๆ ขยายไปสู่ละเอียดในระบบโพรเกรสซีฟ (Progressive)
5. มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก
6. เรียกดูได้กับบราวเซอร์ (Browser) ทุกตัว
จุดด้อย
1. ไม่สามารถทำภาพให้มีพื้นหลังแบบโปร่งใส (Transparent) ได้
2. ทำภาพเคลื่อนไหว (Animation) ไม่ได้
2. GIF (Graphic Interchange Format)
เป็นไฟล์ภาพที่สามารถบีบอัดข้อมูลให้มีขนาดเล็กได้ส่วนมากจะนำไปใช้บันทึกเป็นไฟล์ภาพ เคลื่อนไหวและนิยมมากในการใช้งานบนเว็บเพจ
จุดเด่น
1. สามารถใช้งานข้ามระบบไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) หรือระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ (Unix) ก็สามารถเรียกใช้ไฟล์ภาพสกุลนี้ได้
2. ภาพมีขนาดไฟล์ต่ำ จากเทคโนโลยีการบีบอัดภาพทำให้สามารถส่งไฟล์ภาพได้อย่างรวดเร็ว
3. สามารถทำภาพพื้นหลังแบบโปร่งใสได้
4. มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก
5. เรียกดูได้กับบราวเซอร์ทุกตัว
6. สามารถนำเสนอแบบภาพเคลื่อนไหวได้
จุดด้อย
1. แสดงสีได้เพียง 256 สี
2. ไม่เหมาะกับภาพที่ต้องการความคมชัดหรือความสดใส
3. PNG (Portable Network Graphics)
เป็นชนิดของไฟล์ภาพที่นำจุดเด่นของไฟล์ภาพแบบ GIF และแบบ JPG มาพัฒนาร่วมกัน ทำให้ไฟล์ภาพชนิดนี้แสดงสีได้มากกว่า 256 สี และยังสามารถทำพื้นหลังภาพให้โปร่งใสได้ จึงเป็นไฟล์ภาพที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน
จุดเด่น
1. สนับสนุนสีได้ตามค่า True color (16 bit, 32 bit หรือ 64 bit)
2. สามารถกำหนดค่าการบีบอัดไฟล์ได้ตามที่ต้องการ
3. ทำภาพพื้นหลังแบบโปร่งใสได้
จุดด้อย
1. หากกำหนดค่าการบีบอัดไฟล์ไว้สูงจะใช้เวลาในการคลายไฟล์ภาพสูงตามไปด้วย
2. ไม่สนับสนุนกับบราวเซอร์รุ่นเก่า
3. โปรแกรมสนับสนุนในการสร้างมีน้อย
4. BMP (Bitmap)
เป็นรูปแบบของไฟล์ภาพมาตรฐานที่ใช้ได้ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์โดยมีลักษณะการจัดเก็บ ไฟล์ภาพเป็นจุดสีทีละจุดจึงทำให้ภาพดูเสมือนจริง
จุดเด่น
1. แสดงรายละเอียดสีได้ 24 บิต
2. ไม่มีการสูญเสียข้อมูลใด ๆ เมื่อมีการย่อหรือขยายภาพ
3. นำไปใช้งานได้กับทุกโปรแกรมในระบบปฏิบัติการวินโดวส์
จุดด้อย
1. ภาพมีขนาดใหญ่มากจึงใช้เนื้อที่ในการจัดเก็บค่อนข้างมาก
2. ความละเอียดของภาพอาจจะไม่ชัดเจนเหมือนต้นฉบับ
5. TIF หรือ TIFF (Tagged Image File)
เป็นไฟล์ที่ใช้เก็บภาพแบบราสเตอร์คุณภาพสูง เช่น ภาพกราฟิกที่นำไปทำงานด้านสิ่งพิมพ์ (Artwork) สามารถเก็บข้อมูของภาพไว้ได้ครบถ้วน ทำให้คุณภาพของสีเหมือนต้นฉบับ
จุดเด่น
1. สามารถใช้งานข้ามระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์หรือระบบปฏิบัติการยูนิกซ์
ก็สามารถเรียกใช้ไฟล์ภาพชนิดนี้ได้
2. แสดงรายละเอียดสีได้ 48 บิต
3. ไฟล์มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
4. เมื่อมีการบีบอัดไฟล์จะมีการสูญเสียข้อมูลน้อยมาก
5. มีโปรแกรมสนับสนุนการสร้างจำนวนมาก
จุดด้อย
1. ไฟล์ภาพมีขนาดค่อนข้างใหญ่
2. ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์ภาพสูง
6. PSD (Photoshop Document)
เป็นไฟล์ภาพเฉพาะโปรแกรม Adobe Photoshop จะทำการบันทึกแบบแยกเลเยอร์ (Layer) โดยเก็บประวัติการทำงานและรายละเอียดการตกแต่งภาพ เอาไว้ เพื่อง่ายต่อการแก้ไขในภายหลัง
จุดเด่น
1. มีการบันทึกแบบแยกเลเยอร์และเก็บประวัติการทำงานทุกขั้นตอน
2. สามารถนำไฟล์ภาพมาแก้ไขได้ในภายหลัง
จุดด้อย
1. ไฟล์ภาพมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับไฟล์ภาพประเภทอื่น
2. ไม่สามารถเปิดใช้งานในโปรแกรมอื่นได้
คอมพิวเตอร์กราฟิกกับการประยุกต์ใช้ในงานด้านต่าง ๆ
งานด้านกราฟิกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย คอมพิวเตอร์กราฟิกกับการประยุกต์ ใช้ในงานด้านต่าง ๆ ได้แก่
1. คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานออกแบบ (Computer – Aided Design)
คอมพิวเตอร์กราฟิกได้เข้ามามีบทบาทกับงานด้านออกแบบในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น การออกแบบรถยนต์ การออกแบบเครื่องจักร การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบตกแต่งภายใน และการออกแบบเครื่องประดับ เป็นต้น
CAD (Computer – Aided Design) เป็นโปรแกรมช่วยในการออกแบบทางวิศวกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ออกแบบ หรือวิศวกรออกแบบงานได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นเมื่อต้องการแก้ไขก็สามารถทำได้ง่ายกว่า การทำงานในกระดาษ สามารถออกแบบลักษณะลายเส้น ใส่สี แสงเงา เพื่อให้ดูคล้าย ของจริง สำหรับงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบวงจรต่าง ๆ โดยใช้สัญลักษณ์ที่ระบบมีให้ แล้วทำการประกอบ เป็นวงจรที่ต้องการ ผู้ออกแบบสามารถแก้ไขตัดต่อ เพิ่มเติมวงจรได้ เช่น การออกแบบรถยนต์ เครื่องบิน หรือเครื่องจักรต่าง ๆ นักออกแบบจะใช้ CAD ออกแบบส่วนย่อย ๆ แต่ละส่วนก่อน แล้วจึงประกอบกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางระบบสามารถทดสอบแบบจำลองที่ออกแบบไว้ เช่น การออกแบบรถยนต์ แล้วนำโครงสร้างของรถที่ออกแบบมาจำลอง การวิ่ง แล้วเก็บผลมาตรวจสอบค่า หรือการออกแบบโครงสร้างตึก บ้าน สะพาน และสถาปัตยกรรม เพื่อแสดงภาพในมุมมองต่าง ๆ ตามที่ผู้ออกแบบต้องการ ตัวอย่างการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงาน ออกแบบโครงสร้างภาพคน
2. คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานนำเสนอ (Presentation)
ในการนำเสนอผลงานโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก สามารถแสดงผลทางหน้าจอโปรเจคเตอร์ (Projector) หรือพิมพ์งานลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรม Microsoft Office PowerPoint ใช้สำหรับการนำเสนองาน การนำเสนอสินค้า ส่วนมากนิยมจัดทำเป็นรายงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น รายงานสรุปงบการเงิน รายงานข้อมูลลูกค้า เป็นต้น นิยมแสดงในรูปแบบของกราฟหรือรูปภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
3. คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานบันเทิง (Entertainment)
คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานบันเทิง โดยเฉพาะงานด้านมัลติมีเดีย ได้รับความแพร่หลาย ในวงการบันเทิงเป็นอย่างมาก เช่น การโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ รายการข่าว ละคร เกมออนไลน์ การสร้างภาพการ์ตูน การสร้างภาพเคลื่อนไหว การสร้างภาพวิดีโอ การสร้างฉากภาพยนตร์ เป็นต้น
4. คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานเว็บไซต์ (Web Site)
ได้มีการนำคอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้ในการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงานหรือองค์กรหรือเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ สู่สาธารณะ
5. คอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานด้านการศึกษาและฝึกอบรม (Education and Training)
คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามามีบทบาทกับวงการศึกษา และวงการฝึกอบรมอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดเครื่องมือสำหรับช่วยสอนต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งเกิดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ช่วยสอนในรูปแบบ ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในลักษณะมัลติมีเดีย การเรียนการสอนบนเว็บ (e-Learning) ส่วนการนำ คอมพิวเตอร์ กราฟิกในงานด้านการฝึกอบรม เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ในการฝึกอบรมที่เรียกว่า e-Training ปัจจุบันมีการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับฝึกอบรมของสถาบันฝึกอบรมหลายแห่ง
ตัวอย่างคอมพิวเตอร์กราฟิกกับงานด้านการศึกษา
สรุป
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟิก เริ่มจากการทำความเข้าใจความหมายของกราฟิก ซึ่งเป็นศิลปะหรือศาสตร์แขนงหนึ่งที่สื่อความหมายโดยใช้เส้น ภาพเขียน ภาพถ่าย ภาพวาดหรือสัญลักษณ์ ส่วนความหมายของคอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นการสร้างและการจัดการภาพกราฟิกโดยใช้คอมพิวเตอร์ หลักการทำงานของภาพกราฟิกแบบราสเตอร์ เกิดจากการเรียงตัวของจุดสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า พิกเซล และภาพกราฟิกแบบเวคเตอร์ เกิดจากการประมวลผลโดยอาศัยหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ประเภทของภาพกราฟิกแบบ 2 มิติ จะมีแต่ความกว้างและความยาว ส่วนภาพกราฟิกแบบ 3 มิติ ประกอบไปด้วยส่วนโค้ง เว้า มุม แสงและความลึกระบบสีที่ใช้กับภาพกราฟิก ได้แก่ RGB CMYK HSB และ LAB ประเภทของไฟล์ภาพกราฟิกที่ใช้สำหรับจัดเก็บภาพ จะมีผลกับขนาดของไฟล์ภาพ ตลอดจนปัจจุบันมีการประยุกต์คอมพิวเตอร์กราฟิกไปใช้กับงานด้านต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น งานบันเทิง งานการเรียนการสอนและการฝึกอบรม งานออกแบบ งานเว็บไซต์ หรืองานนำเสนอข้อมูล เป็นต้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น